กสทช. เคาะราคาเริ่มต้น 75,654 ล้านบาท รอบใหม่ เริ่ม 24 มิ.ย

ก็บอกได้เลยว่าเป็นกระแสไม่น้อยเลยทีเดียวครับ สำหรับการเริ่มต้นประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อปีที่แล้ว ทางหน่วยงานภาครัฐประกาศอย่างชัดเจนว่าเงินที่ได้จากการประมูลในครั้งนี้ เราจะนำมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้การประมูลในครั้งนั้น ก็จบลงด้วยที่ค่าย True และ JAS ได้ไปครอบครอง แต่แล้ววันเวลาผ่านไป เมื่อถึงครบกำหนดการชำระเงินดันมีแต่ค่ายทรูเพียงเจ้าเดียว ที่นำเงินมาชำระงวดแรก เพราะฉะนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า JAS หายไปไหน ทำไมไม่มาตามนัด และผลสุดท้ายก็ยังคงคลุมเครือว่าเหตุผลที่แท้จริงแล้ว เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับบริษัทจัสมิน เพราะฉะนั้นเราจึงจะพามาวิเคราะห์กันครับ

 

เริ่มกันที่เหตุผลแรกก่อนว่าคลื่น 900 MHz สำคัญอย่างไร มีแรงจูงใจอะไรที่ต้องประมูล?

คลื่น 900 จำเป็นอย่างไร สำหรับตัวคลื่นดังกล่าวคงต้องบอกว่าจะทำให้ใครก็ตามที่ครอบครอง นั้นก็จะสามารถทำธุรกิจได้อย่างไม่ต้องลงแรงมาก ด้วยเหตุที่ว่าการตั้งเสาสัญญาณ 1 ต้น จะมีความครอบ คลุมพื้นที่ได้มากกว่า คลื่น 1800MHz มากถึง 3 ต้น ดังนั้นผู้ที่ประมูลได้จึงเป็นการลดต้นทุนตั้งเสาไปโดยปริยาย รวมถึงการให้บริการในรูปแบบ 4G LTE Advance หรือว่าการรวมคลื่นสัญญาณ ระหว่างคลื่น 1800 – 2100 MHz เพื่อเพิ่มความแรงของสัญญาณ ส่งผลให้มีความเร็วที่เพิ่มขึ้น 

ทำไมต้องมีสล็อต 1 หรือสล็อต 2 ของคลื่น 900 มีความหมายอย่างไร?

โดยเริ่มแรกต้องอธิบายว่า การประมูลคลื่น 900 ในครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ใบอนุญาต ได้แก่ ชุดที่ 1 คลื่น 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz (10 MHz) และก็ในชุดที่ 2 คลื่น 905-915 MHz คู่กับคลื่น 950-960 MHz (10 MHz) โดยแต่ละใบอนุญาตจะมีอายุ 15 ปี

ซึ่งถ้าหากสังเกต ก็จะพบว่าคลื่น 900 ชุดที่ 1 จะมีความใกล้เคียงกับคลื่น 3G ของ dtac นั่นก็คือ 850 อยู่ ส่งผลให้เมื่อใช้งานไปในบางพื้นที่อาจพบการรบกวนกันของสัญญาณ ทำให้การติดต่อสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ และเกิดเป็นข้อร้องเรียนในภายหลัง 

ดังนั้นทางแก้ไขคือ การลงทุนจัดการกับปัญหาสัญญาณรบกวนเพิ่ม ซึ่งทางกสทช. ระบุว่าอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้นอกจากจะค่าใบอนุญาตแล้ว ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายกับปัญหาดังกล่าวและไม่นับรวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ต้องทำออกมาสมบูรณ์ เพื่อให้ไม่เป็นข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ

 

 

จึงสรุปได้ว่าคลื่น 900 ชุดที่ 1 : มีแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากใบอนุญาตและในกรณีของ Jas Mobile ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วเลยทีเดียว เพราะเสาสัญญาณก็ไม่มี จึงเกิดเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าแจ็สจะทำยังไงต่อไป…? 

เหตุผลที่ทำให้ : เหล่าโอเปอเรเตอร์ตัดสินใจร่วมประมูลนอกจากคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของคลื่น 900 MHz…?

แน่นอนว่าเหตุผลแรกเลยคือ “การอยู่รอดครับ” กล่าวคือการมีคลื่นอยู่ในมือ เปรียบเหมือนกับเรามีไพ่ที่เหนือกว่า ก็สามารถที่นำมาต่อยอดการทำธุรกิจต่างๆ ผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อสร้างผลกำไร หรือรายได้ และเพื่อให้ได้กลายเป็น “ผู้นำการบริการ” ซึ่งเมื่อเปรียบกับการลงทุนแล้ว ถึงแม้จะสูง ถ้าบริหารจัดการดี ปัจจัยภายในที่พร้อมคือ “องค์กร” กับปัจจัยแวดล้อมภายนอกเอื้ออำนวย ผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ก็ย่อมตามมา และก็จะสอดคล้องกับสาเหตุที่สองคือ “อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน”

 

สาเหตุที่สอง

“อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน” ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ ณ ตอนนี้หากเรามองไปถึงอนาคต คงคาดเดาได้ยากครับ ว่าชีวิตประจำวันของเราก็จะเป็นอย่างไรต่อไป หรือจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะทุกอย่างอยู่บนความไม่แน่นอนเช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจในเมื่อประเมินเบื้องต้นแล้วว่าคลื่น 900 MHz นั้นมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วเหตุใดถึงต้องอยู่เฉย สังเกตได้จาก True ถึงแม้จะมีคลื่นเต็มไม้เต็มมือ แต่ก็ยังลงมาแข่งขันประมูล และสุดท้ายชนะไปได้ที่สุด แถมยังด้วยจำนวนเงินที่สูงลิ่ว นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ประกอบกับข้อหนึ่ง ระบุได้ว่า การอยู่รอดและการเป็นผู้นำการบริการ รวมถึงการที่ไม่รอให้อนาคตมาตัดสินปัจจุบัน คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะมีคลื่นมาให้ประมูล !?

 

สาเหตุที่สาม

“การลงทุนที่คุ้มค่า” อย่างที่กล่าวข้างต้น เนื่องจากคลื่น 900 เป็นคลื่นความถี่ตํ่า ทำให้การลงทุนปักเสาสัญญาณ ไม่ต้องใช้เสาสัญญาณมากต้น เพื่อทำให้เกิดสัญญาณที่ครอบคลุม เหมือนคลื่นความถี่สูง อีกทั้งคลื่นดังกล่าวมีความแรงของสัญญาณประสิทธิภาพสูงส่งผลให้คลื่นสัญญาณนั้นไปได้ไกล และที่สำคัญยังทะลุทะลวง เข้าสู่ภายในบ้านและอาคารได้ดี ดังนั้นการใช้งานติดต่อสื่อสารเรียกได้ว่าไม่ขาดตอนเลยทีเดียว (แต่ก็ต้องขึ้นอยู่คลื่นที่ผู้ให้บริการถือครองอยู่ด้วยว่าเอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน) 

 

หลังจากที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นกันไปแล้ว มาดูกันว่าทำไม True ถึงย่อมจ่ายค่าเงินประมูลใบอนุญาตที่ 2 แพงลิ่ว…?

คงมีอยู่แค่คำตอบเดียวที่ให้ได้ครับว่าคือ “True ต้องการเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจการให้บริการการติดต่อสื่อสารเบอร์มงคล true ด้วยคลื่นที่สะสมอยู่ในมือนั้นก็เรียกได้ว่าเอื้ออำนวยต่อการต่อยอดเป็นธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น และที่สำคัญเป็นการประกาศศักยภาพของตนเองว่ามีความเพรียบพร้อมเพียงใด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ นานา ซึ่งข้อพิสูจน์ก็อย่างที่เราเห็นกันในโฆษณาทุกวันนี้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยหนี้ที่มหาศาสเช่นกัน

 

 

แต่ไฮไลท์คงไม่ได้อยู่ที่ True ครับ แต่ว่ากลับกลายเป็น JAS ต่างหาก ว่าอย่างที่เราทราบกันหลังจากประมูลได้ เรา (ผู้ใช้บริการ) อยากจะเห็นแพ็กเกจเป็นแบบใด เพราะตามหลักการตลาด ถ้าหากว่ามีผู้แข่งขันในธุรกิจเพิ่มขึ้น การออกกลยุทธ์เอาใจลูกค้า ก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อดึงดูดให้เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะการเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ จึงต้องงัดกลยุทธ์ สำหรับการนับหนึ่งลูกค้า และการคืนทุนที่รวดเร็ว ทว่า……

เมื่อวันเวลาผ่านไปหลังจากการประมูลได้ ทางบริษัท JAS Mobile ก็ยังไม่มีท่าทีแสดงเจตนารมณ์ที่มีความพร้อมและเชื่อมั่นออกมาว่าเรานั้นเอาจริง นอกจากการแถลงการณ์เมื่อเดือนธันวาคม โดยก็มีแค่ การแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อใจความสำคัญ…และภาพประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นคือ

เป้าหมายบริษัทคือการเป็นเบอร์สองของตลาดโปรเน็ตที่มีบริการทั้งเครือข่ายบรอดแบนด์แบบมีสายและไร้สาย

ผนึกกำลังการให้บริการอย่างลงตัวทั้งบรอดแบนด์และโมบายอินเทอร์เน็ต

มีการเตรียมเงินลงทุนเสาสัญญาณไว้พร้อมแล้ว แต่จะเป็นเจรจาการเช่าใช้ฐานเสาสถานีร่วมกับรัฐวิสาหกิจ

มั่นใจได้ว่าสามารถชำระเงินประมูลได้ตามกำหนด อันเนื่องมาจากหลักการผ่อนชำระเงินแบบยืดหยุ่นของกสทช.

น่าจะเปิดให้บริการได้ทันช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีพุทธศักราช 2559

 

 

หลังจากนั้นก็เงียบหายเข้าไปจนเริ่มมีการถกเถียงว่าสรุปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม วันที่ 21 พุทธศักราช 2559 คือวันที่กสทช. ต้องจำว่าเป็นบทเรียนอีกครั้งหนึ่ง เพราะสุดท้ายทางบริษัท Jas Mobile ก็ไม่มาชำระเงินงวดแรกตามกำหนด ส่งผลให้ใบอนุญาตดังกล่าวกลายเป็นโมฆะและต้องประมูลใหม่ในที่สุด…แล้วช่วงเวลาที่ผ่านมาภาครัฐต้องเสียต้นทุนค่าเสียโอกาสเท่าใด

 

แล้วเหตุผลใดที่บริษัท Jas Mobile ไม่มาชำระเงินตามกำหนด…?

ส่วนรายละเอียดเริ่มตั้งแต่ เหตุผลที่ทำไมนายพิชญ์ไม่เข้าร่วมการประมูลด้วยในคลื่น 900 MHz ทั้งๆ ที่ตอนคลื่น 1800 MHz ก็ได้เข้าร่วมเคาะราคา โดยให้เหตุผลดังนี้

นายพิชญ์ชี้แจงว่าเป็นเรื่องกลยุทธ์, แผนงาน, งบประมาณและการลงทุน โดยให้นโยบายกับทางทีมงานที่เข้าห้องเคาะราคาว่าให้สู้ราคาเต็มที่ได้สูงสุด 80,000 ล้านบาท ซึ่งหน้าที่ทีมงานคือ เคาะราคาไปเริ่อยๆ จนชนะประมูล จึงสรุปว่าการที่นายพิชญ์ไม่เข้าร่วมเคาะราคานั้นเป็นเรื่องของกลยุทธ์ในการแข่งขัน

ส่วนด้านแหล่งเงินทุน นายพิชญ์ยืนยันว่ามีผู้สนับสนุน คือ บริษัทหัวเว่ยและธนาคารกรุงเทพ ซึ่งในด้านธนาคารกรุงเทพ ส่วนตัวได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารมาก่อนแล้ว แต่ในนาทีสุดท้ายธนาคารได้โทรศัพท์แจ้งนายพิชญ์ว่าต้องทำค้ำประกันส่วนตัวด้วย รวมถึงต้องนำคุณพ่อของนายพิชญ์มาคํ้าประกันด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถตกลงกันได้ในที่สุด และทำให้ต้องหยุดการเจรจากับธนาคารกรุงเทพ 

และในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 2 เดือน ส่งผลให้ไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน แต่ก็ยังมีธนาคารไอซีพีซีติด ต่อเสนอมาว่า หากหาพันธมิตรร่วมทุนจากประเทศจีนได้ ทางธนาคารก็พร้อมจะรออกหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ให้ ทว่าสุดท้ายก็ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะมีเวลาที่กระชั้นชิด

อย่างไรก็ตามผลสรุปในตอนนี้สำหรับคลื่น 900 ใบอนุญาตที่ 1 ก็คือ “การต้องเริ่มต้นประมูลใหม่” โดย กสทช. มีการบอกกฏเกณฑ์ของผู้ร่วมลงประมูลไว้อย่างละเอียดดังต่อไปนี้

1.คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่มาชำระเงินค่าประมูลจากการประมูลครั้งที่แล้ว
2.เคาะราคาเริ่มต้นประมูลที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาของผู้ที่ชนะการประมูลครั้งก่อน
3. การวางเงินหลักประกันจะเท่าเดิม คือ 5% ของราคาเริ่มต้นการประมูล 75,654 ล้านบาท = 3,783 ล้านบาท
4. จ่ายเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 4 งวด เช่นเดิม คืองวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ งวดที่สอง 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ งวดที่สาม 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ และงวดสุดท้ายต้องจ่ายที่เหลือทั้งหมด
5. กรณีผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระเงินจะยึดเงินหลักประกันจำนวน 3,783 ล้านบาท กสทช. จะเรียกค่ารับผิดเพิ่มขึ้นอีก 11,348 ล้านบาทรวมเป็น 15,131 ล้านบาทหรือคิดเป็น 20% ของราคาตั้งต้นการประมูล และหากมีความเสียหายเพิ่มเติม สำนักงาน กสทช. จะเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก

 

 

6.ร่างหลักเกณฑ์การประมูลใช้เฉพาะครั้งนี้เท่านั้น จึงเสนอเงื่อนไขกรณีมีผู้ประมูลรายเดียว แต่มีการเคาะยืนยันราคา 75,654 ล้านบาท ก็ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะการประมูล
7.การประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลในลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 หากผู้ชนะรายที่ 1 ไม่มาชำระเงินค่าประมูล กสทช. ก็จะเรียกผู้ชนะลำดับที่ 2 มาชำระเงินประมูล และเป็นผู้ชนะแทน ทั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และในกรณีมีผู้เสนอราคาเท่ากัน 2 ราย กสทช. อาจมีการประกาศเพิ่มเติมให้ดำเนินการยื่นซองราคา เพื่อแข่งขันราคากันเลย

8.และในกรณีที่ไม่มีผู้เข้าประมูล กสทช. จะเคาะราคาถอยหลังจาก 75,654 ล้านบาทตํ่าลงมาเรื่อยๆ และจะหยุดไว้ที่ราคาที่ทางบริษัทกลุ่มทรูได้เคาะไว้ที่ 73,722 ล้านบาท และเงินส่วนที่ขาดรวมถึงค่าเสียหายเพิ่มเติมจะมีการฟ้องร้องจากบริษัท Jas Mobile

โดยจากที่กล่าวมาข้างต้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนตัวเลขราคาของการประมูล มีจำนวนที่สูงมากเลยทีเดียว ซึ่งกรณีนี้ทำให้การประมูลครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ต้องถือว่าน่าติดตามเลยว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีจริงๆ กสทช. คงเหลือ 2 ทางเลือก 1. เคาะราคาให้ตํ่าลงมาอีก ตํ่ากว่ากลุ่มทรู แต่จะเป็นไปได้หรือ? 2. เก็บคลื่น 900 เข้าห้องปิดตาย ทว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปโดยปริยาย สุดท้ายเราคงต้องติดตามกันต่อไปครับ ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

 

หลังจากทราบกฏเกณฑ์กันไปแล้ว มาดูกันว่ากำหนดการของระยะเวลาเป็นอย่างไรบ้าง…?

วันที่ 5-28 เม.ย. 2559 เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 895-905 MHz/940-950 MHz (หรือ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz)
วันที่ 22 เม.ย. 2559 จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าว
วันที่ 12 พ.ค. 2559 ร่างประกาศฯ จะถูกส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 13 พ.ค.-12 มิ.ย. 2559 ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูล
วันที่ 13 มิ.ย. 2559 ยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูล
วันที่ 24 มิ.ย. 2559 วันประมูล!!!

 

สุดท้ายเมื่อกำหนดระยะเวลาการประมูลกันแล้ว คำถามคือใครจะร่วมวงเพื่อ Enjoy บ้าง…?

AIS : ต้องบอกว่าพลาดการประมูลไปด้วยจำนวนตัวเลขที่ฉิวเฉียด แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าได้ประเมินแล้ว หากยังประมูลสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจกระทบกับปัจจัยต่างๆ ด้านการบริการ รวมถึงผู้ถือหุ้น แถมยังมองว่าตัวเลขนั้นมากเกินไป

อย่างไรก็ตามหากมองในระยะยาว AIS ก็ยังสามารถสบายใจได้ เพราะคลื่น 1800/2100 MHz นั้นมีอายุสัมปทานถึงปีพุทธศักราช 2576 เลยทีเดียว หมายความว่ายังสบายใจได้อีกนาน ทว่าถ้ามองในหลักความเป็นจริง ก็ยังให้บริการได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรนัก อีกทั้งก็รองรับลูกค้าได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคการติดต่อไร้สาย คือโจทย์สำคัญของหน่วยธุรกิจและชีวิตประจำวันเช่นนี้ การประมูลคลื่น 900 ครั้งหน้า AIS ก็จะจัดหนักเลย หรือคาดเดาอนาคตและก็เก็บหอมรอมริบรออีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อประมูลคลื่น 850 MHz จาก dtac 

แต่ข่าวล่าสุดระบุว่าทาง AIS ได้ทำหนังสือยื่นต่อกสทช. ว่าพวกเขา (เอไอเอส) จะรับหน้าที่จ่ายเงินคลื่น 900 MHz ตามที่บริษัท JAS Mobile ประมูลได้ เพื่อที่ก็จะได้ไม่ต้องจัดประมูลให้ยุ่งยาก ซึ่งถ้ากสทช. อนุมัติ ทางเอไอเอสก็จะยื่นเรื่องต่อผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติให้ทำการซื้อคลื่น 900 ต่อไป

อย่างไรก็ดีทางกสทช. เองระบุออกมาแล้วว่า ประเด็นของ AIS ที่ได้กล่าวไปข้างต้น นั้นอยู่นอกเหนืออำนาจของกสทช. ซึ่งในเรื่องนี้ต้องส่งให้คสช. พิจราณาต่อไป ภายในวันที่ 8 เมษายนศกนี้ จึงจะได้ข้อสรุปว่า ต้องทำอย่างไรต่อไป มีการประมูลใหม่ หรือ AIS ได้ไปเลย

 

dtac : ในบรรดา 3 ค่ายหลัก รายนี้ดูน่าเป็นห่วงที่สุดแล้ว เพราะ 850/1800 MHz ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในอีกสามปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นถ้าการประมูลคลื่น 900 MHz ดีแทคไม่สามารถคว้าไว้ได้ อาจส่งผลให้กระต่อความเชื่อมั่น รวมถึงลูกค้าได้ เพราะในอนาคตก็ไม่แน่นอนอีกว่าดีแทคจะสามารถครอบครองสองคลื่นดังกล่าวที่กำลังจะหมดอายุไว้ได้ งานนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญตัดสินเลยว่าดีแทคก็จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้อย่างไร เพราะถ้าหาก AIS ได้ไปจริงๆ ดีแทคต้องตอบโจทย์การวางแผนบริการให้กับลูกค้าระยะยาวเลยละครับว่าจะทำอย่างไรต่อไป 

แต่ปัจจัยที่ทำให้ ณ ตอนนี้ดีแทคยังไม่รีบร้อนแสดงท่าทีออกมา ก็อาจเป็นเพราะคลื่นที่ถือครองอยู่ในมือ ประกอบไปด้วย 850MHz จำนวน 10MHz คลื่น 1800MHz จำนวน 25MHz และคลื่น 2100MHz จำนวน 15MHz รวม 50 MHz อาจเพียงพอต่อการทำตลาดแล้ว ดังนั้นจึงต้องอาจรอลุ้นอีกทีช่วงปีพ.ศ. 2561 แทน

 

True : ต้องบอกว่าการประมูลครั้งนี้ก็สาหัสไม่น้อย เพราะยอดเงินที่ต้องจ่ายสูงลิ่วเลยทีเดียว แต่เพื่อการเป็นเบอร์หนึ่งคงต้องยอมแลก แต่ถ้าพูดถึงการประมูลครั้งใหม่ต้องบอกว่าลาก่อน เนื่องจากมีการประชุมของ บอร์ด กสทช. ชุดใหญ่แล้วให้มีมติห้ามกลุ่มทรูลงประมูลครั้งคลื่น 900 ใบอนุญาตที่ 1 อย่างเป็นทางการ ทว่าถ้าเลือกใช้อำนาจพิเศษของคสช. ทรูก็ต้องรอให้ AIS ในสิทธิ์ฐานะผู้เสนอราคารายแรกก่อน

 

ผู้เล่นหน้าใหม่ : ถึงแม้คลื่น 900 เปรียบเหมือนขุมทรัพย์ แต่ถ้าผู้เล่นหน้าใหม่ไม่รู้วิธีการดำเนินธุรกิจ (Know-How) ที่เชี่ยวชาญอาจพบเจอกับความลำบากได้ เช่นเดียวกับธุรกิจของตนเอง ถ้าหากไม่เอื้ออำนวยส่งเสริมกับการสื่อสารโทรคมนาคมคงไม่เป็นผลดีมากนัก ต่อการขับเคลื่อนทั้งองค์กรให้เป็นในทิศทางเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันไม่ใช่แค่ปัจจัยภายในที่ต้องแข็งแกร่ง ทว่าภายนอกเองก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วยดังนั้นรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) จึงเป็นโจทย์ ที่สำคัญ 

 

 

ลำดับต่อไปมาดูกันว่าปัจจุบันคลื่นที่แต่ละโอเปอเรเตอร์ถือครอบครองนั้นมีอะไรบ้าง....?

 

 

สุดท้ายจึงขอสรุปว่าการประมูลคลื่น 900 ในวันที่ 24 มิถุนายน (หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) ก็จะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง AIS และ dtac เพื่อแย่งชิงใบอนุญาตที่ 1 …. ต้องรอติดตามกันครับ ส่วนผู้เล่นหน้าใหม่ ถึงแม้จะเชี่ยวชาญการดำเนินธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมถ้าฐานการเงินไม่มั่นคงจริง อาจลำบากเหมือนกันในภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง

และหากบทความนี้มีประโยชน์กับผู้อ่าน หรือคนที่ผู้อ่านหวังดีก็อย่าลืมแชร์ให้เค้าได้อ่านด้วยนะครับ

 

 

 

เรียบเรียงโดย: MCCONTENT

 ที่มา: news.siamphone.com

Categorized in: