หิ่งห้อย หรือแมลงแสง
หิ่งห้อยหรือแมลงแสง แมลงคาเรือง แมลงทิ้งถ่วง เป็นแมลงปีกแข็ง ในวงศ์แลมพายรีดี (Lampyridae) อันดับโคลีออปเทอรา (Coleoptera) สำหรับภาษาอังกฤษก็มีเรียกหลายชื่อล้วนแต่แปลว่าแมลงมีแสงทั้งนั้น ทั้ง ไฟเออร์ฟลาย – Firefly, ไลต์นิ่ง ส่วนความหมายของคำว่า “หิ่งห้อย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้สั้นๆ ว่า แมลงชนิดหนึ่ง มีแสงเรืองๆ ที่ก้น
จากข้อมูลสำรวจพบทั่วทั้งโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด ประเทศไทยมีประมาณ 100 ชนิด หิ่งห้อยตัวแรกที่มีหลักฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์แมลงกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร คือ Luciola substriata Gorham พบโดยชาวอังกฤษชื่อ ดับเบิลยู.เอส.อาร์. ลาเดล (W.S.R. Ladell) จำแนกชนิดโดย จี.อี.บี. กอแรม (G.E.B. Gorham) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ระบุสถานที่พบว่า ประเทศไทย
หิ่งห้อยมีแสงทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ส่วนระยะไข่มีแสงเฉพาะบางชนิดเท่านั้น หิ่งห้อยตัวผู้มีปีก ขณะที่ตัวเมียมีรูปร่างหลายแบบ มีทั้งปีกปกติ ปีกสั้น และมีรูปร่างคล้ายหนอน หิ่งห้อยระยะหนอนกินหอย ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็กๆ เป็นอาหาร มีแหล่งอาศัยแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน เช่น อาศัยตามบริเวณน้ำจืด น้ำกร่อยที่มีน้ำทะเลหนุน และสภาพที่เป็นสวนป่า หรือภูเขาที่มีสภาพแวดล้อมดั้งเดิมไม่ถูกทำลาย
ตัวเต็มวัยของหิ่งห้อยมีอวัยวะทำแสงอยู่ที่ปล้องท้องด้านล่าง ตัวผู้ให้แสง 2 ปล้อง ตัวเมียให้แสง 1 ปล้อง แสงในตัวผู้จึงสว่างกว่าตัวเมีย แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเย็น เกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะ ทำแสง กับออกซิเจน มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferas FIFA) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารอดีโนซีน ไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate: ATP) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง ทั้งนี้ หิ่งห้อยกะพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน ส่วนวงจรชีวิตของหิ่งห้อยจะยาวนานหรือสั้น ขึ้นอยู่กับฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้นและความสมบูรณ์ของอาหาร
สำหรับต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบ ไม่ได้มีเพียงต้นลำพู แต่เพราะว่า หิ่งห้อยตัวเต็มวัยไม่กินอาหาร มันกินแต่น้ำหรือน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบไม้ ต้นลำพูเป็นพืชที่มีขนที่ใบจึงทำให้น้ำค้างเกาะอยู่จำนวนมาก เป็นแหล่งอาหารอย่างดีของหิ่งห้อย
หิ่งห้อยเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็น “ตัวห้ำ” ควบคุมศัตรูพืชตามหลักการทางชีวภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตรกรรม หิ่งห้อยจะทำลายหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญกัดกินทำลายต้นข้าวในระยะลงกล้าและระยะปักดำใหม่ๆ ทั้งยังเป็นตัวห้ำทำลายหอยที่เป็นโฮสต์กึ่งกลางของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน โรคเลือดในสัตว์ และพยาธิใบไม้ลำไส้ในคน
ด้านพันธุวิศวกรรม สามารถใช้สารลูซิเฟอรินในหิ่งห้อยเป็นเครื่องบ่งบอกว่าการตัดต่อยีนส์ประสบผลสำเร็จหรือไม่ รวมถึงสามารถนำยีนส์หรือฮอร์โมนที่สร้างแสงสว่างของหิ่งห้อยไปใช้ประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในเนื้อสัตว์ได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์เอกซเรย์ในสหรัฐอเมริกาได้สกัดสารลูซิเฟอรินจากหิ่งห้อย ปล่อยเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อให้แสงไปจับตามหน่วยถ่ายพันธุกรรมที่อาจสะสมอยู่ในเซลล์ที่เป็นมะเร็ง เพื่อช่วยให้การตรวจหาเนื้อร้ายในร่างกายได้ง่ายขึ้น หิ่งห้อยมีมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยควรชมในคืนเดือนมืด จะเห็นแสงหิ่งห้อยชัดเจน