ขอบคุณเครดิตรูปภาพ : https://goo.gl/w6Vrsy

เกษตรกรรมในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และการเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของคนไทย ทำให้ประเทศไทยมีสินค้าทางเกษตรและผลผลิตทางเกษตรอยู่หลายอย่าง และก็มีสินค้าทางการเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกอยู่หลายชนิดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

ยางพารา

ยางพาราจัดเป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยสามารถแบ่งการส่งออกได้เป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะเป็นผลิตภัณฑ์ยางกึ่งสำเร็จรูป เป็นการแปรรูปน้ำยางที่กรีดได้ให้เป็นในรูปแบบที่ต้องการและทำการส่งออกเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มที่สองจะเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปเป็นกระบวนการแปรรูปน้ำยางที่กรีดได้ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ท่อยาง เป็นต้น

ข้าว

ข้าวนอกจากจะเป็นอาหารหลักของคนไทยแล้ว ข้าวยังจัดเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยอีกด้วย โดยในปีหนึ่งประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นจำนวนมากมีรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในทุกปีสำหรับประเทศที่ไทยส่งข้าวออกมากที่สุดจะได้แก่ ฮ่องกง จีน มาเลเซีย แคนาดา อิรัก อิหร่าน เป็นต้น โดยการส่งออกข้าวของไทยนั้นจะมีทั้งที่เป็น ข้าวเปลือก ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้า รวมไปถึงข้าวเหนียว

มันสำปะหลัง

มันสำปะหลังก็จัดได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกและเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมากเช่นกัน มันสำปะหลังจัดเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ สำหรับในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ก็นิยมการบริโภคมันสำปะหลังเช่นกัน มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เจริญเติบโตได้ดีแม้ในพื้นดินที่ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์มากนัก จึงเป็นพืชที่ได้รับความนิยมในเพาะปลูกของเกษตรกร

ข้าวโพด

ข้าวโพดเป็นสินค้าทางเกษตรที่ประเทศไทยส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ ประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้าของประเทศไทยในการส่งออกข้าวโพดจะได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน และศรีลังกา แต่การส่งออกจะเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมในการเพาะปลูกข้าวโพดของเกษตรกรในแต่ละปี และความต้องการของตลาด

ขอบคุณเครดิตรูปภาพ : https://goo.gl/CEMBiL

การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำธุรกิจส่งออก

การส่งออกและนำเข้าประเทศไทยมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ อีกทั้งประเทศไทยยังได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่ดีที่สุดในอาเซียน เพราะมีทางออกทางทะเลทั้งสองฝั่ง ทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยมีความน่าสนใจ เหมาะแก่การลงทุน และประเทศเพื่อนบ้านมักจะนำเข้าสินค้าของไทยเป็นหลัก สำหรับการทำธุรกิจการส่งออกสินค้าให้อยู่รอดได้นั้นมีเคล็ดลับ ดังนี้

1.การแต่งตั้งผู้จัดการโครงการขึ้น เนื่องจากการดำเนินธุรกิจประเภทนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องของข้อมูลและวิธีการดำเนินการต่างๆที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งเป็นอันดับแรกในการเริ่มธุรกิจส่งออก ดังนั้นการแต่งตั้งผู้จัดการในครั้งนี้จะต้องเลือกเอาบุคคลในระดับท๊อปสุด ที่มีความรู้ความสามารถบวกกับประสบการณ์การทำธุรกิจในต่างประเทศจึงจะเหมาะสมที่สุด

2.ตรวจสอบโอกาสทางการตลาดของประเทศอื่น ส่งตัวแทนออกไปยังประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขนาดไหน โดยต้องพิจารณาข้อมูลในทุกเรื่อง จึงต้องทำการพิจารณาและวิเคราะห์อย่างละเอียดด้วยว่าธุรกิจจะสามารถเข้าไปเจาะและตีตลาดได้หรือไม่

3.ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ประกอบการต้องนำข้อมูลของแผนการดำเนินงานทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีมาตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบ เพราะเชื่อว่าคงไม่มีผลิตภัณฑ์สินค้าชนิดใดจะสามารถขายได้ในทุกประเทศโดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนในส่วนไหนเลย ดังนั้นจึงควรปรับเปลี่ยนถ้าจำเป็น เพื่อผลตอบรับที่ดี

4.เลือกรูปแบบการส่งออก มีอยู่ด้วยกัน 3 ช่องทางคือ รถยนต์ เรือ เครื่องบิน แต่ละช่องทางจะมีราคาและเรื่องระยะเวลาที่แตกต่างกันซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องนำมาคำนวนด้วย ควรต้องคัดเลือกให้มีความเหมาะสมกับแผนงานมากที่สุด หรือใช้วิธีการร่วมทุนกับต่างชาติ

5.ตรวจสอบภาษี ในแต่ละประเทศจะมีการเรียกเก็บภาษีที่แตกต่างกันออกไปตามแต่กฎหมายของประเทศนั้นๆ ดังนั้นจึงควรว่าจ้างทนายความและนักบัญชีที่เป็นคนในประเทศดังกล่าวขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมาย

6.เสริมสภาพคล่องทางการเงินไว้ให้มาก  เพราะเมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นมาก็แทบจะไม่มีสิทธิไปขอกู้ธนาคารที่อยู่ต่างประเทศได้เลย การรักษาสุขภาพทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

Categorized in: